แม้ผ่านการทำลายล้างจากสงครามและเสื่อมสภาพตามกาลเวลา ซากปรักหักพังโบราณในพระนครศรีอยุธยายังคงดำรงอยู่ในปัจจุบันประหนึ่งร่องรอยแห่งความรุ่งเรืองในอดีตที่ลึกลับและน่าหลงใหล โดยอาจจะเปิดเผยความลับให้กับคนส่วนน้อยที่อุทิศตนเพื่อการศึกษาและอนุรักษ์โบราณสถานและเทคนิคการก่อสร้างแบบดั้งเดิม ดังนั้น ด้วยเป้าหมายที่จะไขความลี้ลับของเมืองอยุธยาโบราณและเผยแพร่ความรู้อันทรงคุณค่าเกี่ยวกับมรดกสิ่งก่อสร้างสู่สาธารณชน ยูเนสโกจึงได้จัดทัศนศึกษาไปยังราชธานีอันเป็นที่กล่าวขานนี้เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 โดยผู้เชี่ยวชาญสี่ท่านได้มอบข้อมูลเชิงลึกหลากหลายแง่มุมให้กับผู้ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับปูชนียสถานที่สำคัญสองแห่งจากสมัยกรุงศรีอยุธยา
วัดพุทไธศวรรย์ จักรวาลแห่งรายละเอียด
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพุทไธศวรรย์ขึ้นในปี พ.ศ. 1896 วัดพุทไธศวรรย์มีความสำคัญเนื่องจากมีบันทึกทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีซึ่งบ่งบอกว่าวัดนี้มีการใช้งานอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2478 วัดพุทไธศวรรย์เป็นวัดแรก ๆ ที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ
ปรางค์ประธานและมณฑป วัดพุทไธศวรรย์
ผศ.ดร.ปาริสุทธิ์ เลิศคชาธาร อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า พระเจ้าอู่ทองน่าจะมาจากเมืองลพบุรี ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดวัดพุทไธศวรรย์จึงมีการวางผังที่ดูเหมือนจะอ้างอิงจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่ลพบุรี หัวใจของผังนี้คือปรางค์ประธาน เปรียบประดุจเขาพระสุเมรุ ซึ่งตามคติในศาสนาพุทธถือเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นแกนกลางจักรวาล ปรางค์ประธานตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางของเขตพุทธาวาส ล้อมรอบด้วยระเบียงคดทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกำแพงจักรวาล ซากปรักหักพังของวิหารหลวงอยู่ทางทิศตะวันออกและยื่นล้ำเข้าไปในระเบียงคด สันนิษฐานว่าวางผังเช่นนี้เพื่อให้ศาสนิกชนในสมัยโบราณสามารถเข้าไปเวียนเทียนรอบองค์พระปรางค์ได้สะดวก
วิหารหลวง (ขวา) ยื่นล้ำเข้าไปในระเบียงคด วัดพุทไธศวรรย์
คุณวีระศักดิ์ แสนสะอาด นักโบราณคดีชำนาญการ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อธิบายว่า ตลอดประวัติศาสตร์การใช้งานอย่างยาวนาน วัดพุทไธศวรรย์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่อย่างน้อยสามครั้ง และเป็นไปได้ว่าครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงอยุธยาตอนปลาย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ในสายตาของผู้เชี่ยวชาญ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ของวัดนี้แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของมรดกสิ่งก่อสร้างที่มีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยาตอนต้น บันทึกกระบวนการที่แต่ละรุ่นตอบสนองต่อรูปแบบของรุ่นก่อน ๆ เช่น ดร.ปริสุทธ์สันนิษฐานว่า เดิมทีอาจเคยมีปรางค์ขนาดเล็กขนาบปรางค์ประธานทั้งสองข้าง ดังคติของพระปรางค์สามยอดที่ลพบุรี แต่ต่อมาปรางค์ขนาดเล็กได้ถูกแปลงให้เป็นมณฑปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาเป็นทรงจอมแห คุณวีระศักดิ์ตั้งข้อสังเกตว่าปรางค์ประธานน่าจะได้รับการบูรณะให้สะท้อนสุนทรียะที่อ่อนช้อยขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2325-2475)
คุณวีระศักดิ์ แสนสะอาด อธิบายภูมิศาสตร์ของอาณาจักรอยุธยาตอนปลาย
จุดเด่นอีกอย่างของวัดพุทไธศวรรย์ที่ดร.ปาริสุทธ์ชี้ให้เห็นก็คือกลุ่มเจดีย์รายอันงดงาม ซึ่งบ้างก็มีลักษณะตามแบบฉบับของอยุธยาตอนต้น เช่น ฐานแปดเหลี่ยม บ้างก็มีลักษณะที่บ่งบอกว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลางหรือตอนปลาย เช่น ทรงระฆังและฐานสิงห์สามชั้น
อาจารย์สันธาน เวียงสิมา อธิบายเทคนิคงานไม้ที่สันนิษฐานได้จากร่องรอยซึ่งปรากฎที่คานของตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธศวรรย์
อาจารย์สันธาน เวียงสิมา สถาปนิกและช่างไม้อนุรักษ์ ได้ชี้รายละเอียดงานไม้ที่เผยให้เห็นถึงเทคนิคอันน่าชื่นชมของช่างไม้โบราณ เช่น รอยต่อพื้นไม้แบบหางเหยี่ยวที่ยึดแผ่นไม้เข้าด้วยกันอย่างมิดชิด ณ ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ และการเข้าปากกบที่ซับซ้อนซึ่งปรากฏที่วงกบหน้าต่าง ณ วิหารพระพุทธไสยาสน์
วิหารพระพุทธไสยาสน์&Բ;วัึϸุทไธศวรรย์
เมื่อชี้ไปที่คานไม้แนวทแยงขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยค้ำยันโครงสร้างหลังคาของระเบียงคด และซึ่งวางตำแหน่งไว้อย่างมั่นคงด้วยการเข้าไม้ที่เชี่ยวชาญ อาจารย์สันธานกล่าวว่า ‘ตามประวัติศาสตร์งานช่าง ปรากฏหลักฐาน[ว่า สยามมี]ตะปูใช้มาตั้งนานแล้ว เพียงแต่บรรพบุรุษของเราเจ๋งพอที่จะออกแบบรอยต่อที่ไม่ต้องใช้ตะปูก็ได้’
การเข้าไม้ของคานแนวทแยง ระเบียงคด วัดพุทไธศวรรย์
วัดไชยวัฒนาราม พิภพจุลภาคแห่งพระราชอำนาจ
วัดพุทไธศวรรย์มีเสน่ห์ดึงดูดเนื่องจากเต็มไปด้วยรายละเอียดเชิงโครงสร้างและเชิงสุนทรีย์ แต่วัดไชยวัฒนาราม แม้จะอยู่ในสภาพปรักหักพัง ยังคงความยิ่งใหญ่ ตระการตาผู้เยี่ยมชมทุกคน บริเวณที่ตั้งของวัดแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของพระราชมารดาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ พ.ศ. 2172–2199) วัดไชยวัฒนารามน่าจะสร้างขึ้นในช่วงต้นรัชกาล จึงเป็นทั้งวัดประจำรัชกาลและเป็นการอุทิศพระราชกุศลถวายบรรพชนตามธรรมเนียมของกษัตริย์เขมร ดร.ปาริสุทธิ์อธิบายว่า เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าปราสาททองคือผู้ชิงราชสมบัติ จึงทรงจำเป็นต้องฟื้นฟูธรรมเนียมเขมรที่เก่าแก่กว่า เพื่อเชื่อมโยงพระองค์กับความรุ่งโรจน์ของอาณาจักรพระนครและอ้างความชอบธรรมในการครองราชย์
ดร.ปาริสุทธิ์ เลิศคชาธาร บรรยายแผนผังวัดไชยวัฒนาราม
วัดไชยวัฒนารามมีการวางผังที่คล้ายคลึงกับวัดพุทไธศวรรย์ ทว่าอลังการและซับซ้อนกว่า ปรางค์ประธานของวัดไชยวัฒนารามเป็นสัญลักษณ์ของแกนกลางจักรวาลเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ ดร.ปาริสุทธ์อนุมานว่าคติจักรวาลที่วัดไชยวัฒนาราม เมื่อพิจารณาร่วมกับภาพปูนปั้นเล่าเรื่องพุทธประวัติ อาจสอดคล้องกับพระประสงค์อันสูงสุดของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองที่จะเป็นพระอนาคตพุทธเจ้าในพระชาติต่อ ๆ ไป เนื่องจากเป็นการอุทิศพระราชกุศลถวายพระราชมารดา วัดแห่งนี้จึงมีอาคารทรงปราสาทแปดองค์ตั้งอยู่บนแนวระเบียงคด เรียกว่า เมรุทิศ (อยู่ในแนวแกนทิศหลัก) และเมรุราย (ที่มุมทั้งสี่)
ปรางค์ประธานล้อมรอบด้วยเมรุทิศและเมรุราย&Բ;วัึϹชยวัոาราม
วัดไชยวัฒนารามสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มทางประวัติศาสตร์ที่อุโบสถมีความโดดเด่นมากขึ้นจนกลายมาเป็นอาคารหลักของวัดในยุครัตนโกสินทร์ เพราะที่วัดไชยวัฒนาราม อุโบสถ (ไม่ใช่วิหาร) อยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งถือเป็นด้านหน้าของวัด
คุณวราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล สถาปนิกและผู้จัดการโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม กองทุนโบราณสถานโลก เล่าว่าโครงการนี้ริเริ่มขึ้นเนื่องจากอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2554 ทำให้กำแพงทิศใต้ของวัดพังทลายลง หลังจากสูบน้ำออกและซ่อมแซมกำแพงสำเร็จแล้ว โครงการได้ขยายขอบเขตไปสู่การบูรณะเมรุและระเบียงคดด้วย คุณวราภรณ์กล่าวว่าเป้าหมายในปัจจุบันคือการทำงานอนุรักษ์ให้เป็นเยี่ยงอย่าง โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับมรดกสิ่งก่อสร้างและพยายามทำลายข้อจำกัดด้านเวลาและงบประมาณ เมื่อมีคำถามว่า เหตุใดทีมงานอนุรักษ์จึงไม่พยายามบูรณะวัดให้หวนคืนสู่สภาพสมบูรณ์แบบดั้งเดิม คุณวราภรณ์อธิบายถึงหลักการอนุรักษ์ที่กำหนดให้มีการแทรกแซงน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่สามารถยืนยันรายละเอียดต่าง ๆ เช่น สีหรือลวดลายเดิมได้ อย่างไรก็ตาม ดังที่อาจารย์สันธานชี้ให้เห็น การถอดรหัสร่องรอย เช่น ช่องที่มีไว้สำหรับคานไม้ที่ไม่หลงเหลืออยู่แล้ว สามารถทำให้จินตนาการได้ว่าโครงหลังคาไม้ของระเบียงคดน่าจะมีลักษณะอย่างไร และยังสามารถสร้างรูปแบบสันนิษฐานทางสถาปัตยกรรมอันน่าทึ่ง ดังที่คุณวราภรณ์นำมาแสดงให้ผู้เข้าร่วมทัศนศึกษาได้รับชม
คุณวราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล (ขวา) เผยรูปแบบสันนิษฐานทางสถาปัตยกรรมของเมรุและระเบียงคดบางส่วน วัดไชยวัฒนาราม รูปแบบสันนิษฐานนี้ทำขึ้นโดย พัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน และเผยแพร่ผ่าน Facebook (arch.kidyang) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ และผ่าน Twitter @arch_kidyang เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2566
เมื่อพระอาทิตย์เริ่มอัสดงที่วัดไชยวัฒนาราม สาดแสงให้ปรางค์ประธานเป็นสีทองอร่าม ดูเหมือนว่าความอบอุ่นที่อ่อนโยนขึ้นจะช่วยเผยร่องรอย ‘ความเป็นมนุษย์’ ของอิฐโบราณเหล่านี้ เพราะแท้จริงแล้ว อิฐเหล่านี้รังสรรค์ขึ้นด้วยความช่างประดิษฐ์และอุตสาหะของมนุษย์ โดยแสดงออกในลักษณะที่จับต้องได้ถึงคุณค่าซึ่งสังคมหนึ่งเคยหวงแหน และซึ่งได้รับการหล่อหลอมในนิยามที่กว้างที่สุดโดยพระราชปณิธาน ความหายนะของสงคราม เสน่ห์ทางวัตถุของการค้าขาย มิติทางจิตวิญญาณของศาสนา และความไม่แน่นอนของโชคชะตา นี่คือสิ่งที่ซากปรักหักพังสมัยกรุงศรีอยุธยาสามารถสอนเราได้ หากเราพร้อมเรียนรู้ที่จะตอบสนองต่อความละเอียดอ่อนของความเป็นมนุษย์เหล่านี้
ยูเนสโกจัดทัศนศึกษาพระนครศรีอยุธยาครั้งนี้ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิเอสซีจี และด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยรังสิต กองทุนโบราณสถานโลก และกรมศิลปากร
บทความȨ้เป็Ȩบับแปลจาก เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566
#IntangibleCulturalHeritage #LivingHeritage #CultureForSustainableDevelopment
More from UNESCO Bangkok
Share
About the authors

ชัยรัตȨ จงวัոกิจ เป็นที่ปรึกษาสัญชาติไทย-แคนาดา เชี่ยวชาญด้านการสร้างเนื้อหาให้กับกลุ่มงานข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ที่สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ ชัยรัตȨสนับสนุนการรายงาน การแปล การพัฒนาสื่อ และโครงการที่เกี่ยวข้องของยูเนสโกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
นอกเหนือจากประสบการณ์เป็นนักแปลมืออาชีพแล้ว ชัยรัตȨยังเป็นนักเปียโนและนักการศึกษาด้านดนตรีที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยโทรอนโต ที่ซึ่งเขาได้สอนทฤษฎีดนตรีและวรรณกรรมเปียโน ชัยรัตȨได้นำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ และได้รับเชิญบรรยายและสอนมาสเตอร์คลาสที่มหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันดนตรียามาฮ่า กรุงเทพฯ