Publication
รายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลกปี 2023 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เทคโนโลยีกับการศึกษา: เครื่องมือโดยเงื่อนไขของใคร? ผลสรุป


ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบกับการขยายตัวของการใช้เทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว มีการประมาณว่าในภูมิภาคนี้มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตถึง 400 ล้านคน โดยในปี 2020 เพียงปีเดียวมีผู้เข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกถึง 40 ล้านคน ศักยภาพในการขยายตัวนี้จะเปลี่ยนโฉมการศึกษา และบรรลุปณิธานในการพัฒนาของภูมิภาคโดยผ่านสิ่งต่าง ๆ เช่น การสอนเสริมและการทดสอบเฉพาะบุคคล ระบบการจัดการการเรียนรู้ การเรียนรู้ภาษา และการพัฒนาทักษะ
แต่ก่อนที่จะด่วนใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด รายงานฉบับนี้เรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายพิจารณาความท้าทายหลักในการศึกษา ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสมอภาคและการมีส่วนร่วม คุณภาพ และประสิทธิภาพ เทคโนโลยีเป็นหนึ่งในเครื่องมือหลายชนิดที่สามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ทางการศึกษา แต่เทคโนโลยีก็สามารถทำให้ความท้าทายบางประการรุนแรงขึ้น ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การจะตระหนักถึงศักยภาพของเทคโนโลยีได้ต้องมีการบรรลุเงื่อนไขสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการกระจายโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเสมอภาค การตัดสินใจโดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์อ้างอิง กรอบการทำงานทางกฎหมายที่ดี และการลงทุนกับครูอย่างยั่งยืน
รายงานฉบับนี้จัดทำโดยคณะทำงานรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก โดยความร่วมมือกับองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) และการสนับสนุนจากเอ็ดเท็คฮับ (EdTech Hub) และครอบคลุม 11 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา สปป. ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ติมอร์-เลสเต และเวียดนาม รายงานฉบับนี้ใช้ข้อมูลจากกรณีศึกษาใน 9 ประเทศ การศึกษาแก่นสาระ (thematic studies) 5 ฉบับ และข้อมูลจากสมาชิกพันธมิตรและหุ้นส่วนของซีมีโอ
รายงานฉบับเฉพาะภูมิภาคฉบับนี้ ซึ่งสร้างต่อจากรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ปี 2023 ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นในการเน้นการพัฒนาทักษะดิจิทัลและการลงทุนด้านการเชื่อมต่อ และกระตุ้นให้รัฐบาลตั้งคำถามว่าการใช้เทคโนโลยีในการศึกษานั้นเหมาะสมเพื่อช่วยปรับปรุงการเรียนรู้ให้ดีขึ้น มีความเสมอภาคและไม่ละทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ขยายตัวได้โดยอิงตามหลักฐานเชิงประจักษ์และการประเมินค่าใช้จ่ายที่เชื่อถือได้ และมีความยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
#EDCoordinationAsiaPacific #ICTinEducation